อว. ประสานความร่วมมือ บีโอไอ – สถาบันอุดมศึกษา พัฒนาแพลตฟอร์มผลิตกำลังคนนักวิทย์-วิศวกร ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชนและการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ไทย

(26 ตุลาคม 2564) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัด อว. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการระบบพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. แถลงนโยบายในประเด็น “นโยบายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย”

หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ยังได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “อุดมศึกษากับการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการลงทุน” โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “นโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคนในอนาคตเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทยกับการสนับสนุนการพัฒนานโยบายด้านกำลังคน” โดยได้กล่าวว่า สอวช. ได้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนในอนาคตข้างหน้าที่จะมีจุดเน้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่งขณะนี้ อว. มีมาตรการหลายอย่างที่สร้างคนและหลายมาตรการก็ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน โดยเราได้ทำการวิจัยรูปแบบและนโยบายการพัฒนากำลังคนว่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปใน 9 ทิศทาง คือ 1) การพัฒนาคนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากการพัฒนาฝั่ง Supply Side ไปสู่ระบบการทำงานใหม่ที่เป็น Co-Creation ที่ผู้ผลิตคนและผู้ใช้ประโยชน์มาร่วมกันจัดตั้งแพลตฟอร์ม และร่วมพัฒนาคน ทั้งในเชิงการทำงานและการลงทุนร่วมกัน 2) สมัยก่อนคนมาศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญาบัตรไป แต่ในอนาคตจะเริ่มมองถึงเรื่องการมีงานทำ การมีอาชีพ เปลี่ยนจาก Degree-based เป็น Ability Oriented 3) ระบบการสร้างคน จะเปลี่ยนจากการผลิตแบบ Content-Based เน้นเรียนเนื้อหา เป็น Competency-Based เน้นไปที่ความสามารถ ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้เท่านั้น แต่เรียนเพื่อทำได้ด้วย 4) เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตแบบ เกิดมา เรียนหนังสือ ทำงาน เกษียณ แต่อนาคตการศึกษาจะตอบโจทย์เรื่อง Multi-stage Life ชีวิตหลากหลายขั้นมากขึ้น วงจรของการศึกษาเปลี่ยนไป แทนที่จะผลิตเด็กตามเวลา 4 ปี ก็จะดูแลประชากรในวัยทำงาน วัยเกษียณด้วย

ที่มา https://www.nxpo.or.th/th/9170/